**ขออนุโมทนาแก่ผู้บริจาคสมทบทุนสร้างพุทธอุทยานหนองหารหลวงและมหาเจดีย์บรรจุพระเกศาสมเด็จย่า ดังมีรายนามต่อไปนี้ >>>ดร.มาลินี จรูญธรรม ๓๐๐,ครอบครัวคุณยายอรุณี โฮมไชยา ๕๐๐, นางสาวจำรอง แสงพรหมศรี ๕๐๐, นางพัลลภา กิ่่งแก้ว พร้อมบุตรธิดา ๕๐๐,คุณตาทศพล กุศลเฉลิมวิทย์ ๑๐,๐๐๐<<<
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์บทความรายนามผู้ร่วมสร้างพุทธอุทยานฯรูปภาพห้องสนทนาติดต่อเรา

ขอเชิญรับฟังรายการ "คนดีศรีสังคม" ทุกวันศุกร์-เสาร์ เวลา 19.30-20.00 น. และรายการ "สืบสานวัฒนธรรมไทย" วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.00-17.00 น. ออกอากาศพร้อมกันทั้งระบบ เอเอ็ม เอฟเอ็ม และออนไลน์ทั่วโลก ทางสถานีวิทยุ 909 สกลนคร www.rbs909.com

พิธีเถราภิเษก


ประเพณีบุญ "กองฮด" หรือ "พิธีเถราภิเษก" เป็นพิธีถวายเกียรติ ด้วยการรดน้ำหรือสรงน้ำแก่พระสงฆ์หรือพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นปราชญ์ผู้คงแก่เรียน ทรงธรรม ทรงวินัย อันเป็นการถวายความเคารพ สักการะพระสงฆ์ 

เพื่อให้ท่านได้มีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนและมั่นคงในการปฏิบัติศาสนกิจสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า 

แต่ปัจจุบัน พิธีดังกล่าวเริ่มสูญหายไปจากชุมชน จนเกรงว่าในหลายท้องถิ่นจะสูญหายกันไป

ประเพณีเถราภิเษก ปรากฏในฮีดสิบสองคองสิบสี่ เรียกว่า "บุญกองฮด" เป็นประเพณีที่ประชาชนชาวบ้านคัดเลือกพระภิกษุ-สามเณรในวัดผู้บวชเรียนทางสายการศึกษาโดยตรง โดยมีการกำหนดขั้นตอนในการถวายเกียรติไว้ชัดเจน เมื่อพระสงฆ์เรียนจบ สวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง และสวดมนต์ปลาย 

พิธีเถราภิเษกแต่งตั้งให้เป็น "สำเร็จ" เมื่อเรียนจบมูลกัจจายน์ แปลบาลีอรรถธรรมกถาจบ ก็ทำพิธีเถราภิเษกแต่งตั้งให้เป็น "ญา" หรือ "ชา" เมื่อแปลจบมังคลัตถทปนีวิสุทธิมรรค จนสามารถเป็นครูอาจารย์สอนคนอื่นได้ ต้องทำพิธีเถราภิเษกแต่งตั้งให้เป็น "ครู" และเมื่อได้รับความไว้วางใจให้เป็นอาจารย์สอนราชโอรสหรือลูกบุตรหลานข้าราชการชั้นสูงอำมาตย์ จะได้รับสถาปนาเถราภิเษกแต่งตั้งให้เป็น "ราชครู" 


ดังนั้น ประชาชนชาวจังหวัดสกลนคร ได้มองเห็นความสำคัญ จึงร่วมกันฟื้นฟูประเพณีขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่หายไป จนแทบไม่มีใครรู้จัก 

โดยความร่วมมือของ 4 สมาคม ประกอบด้วย พุทธสมาคมชาวสกลนคร, สมาคมข้าราชการนอกประจำการ, สมาคมชาวสกลนครในกรุงเทพมหานคร และชมรมผู้สูงอายุจังหวัดสกลนคร เป็นต้น 

ทั้งนี้ การคัดเลือกพระสงฆ์นักบริหารและพัฒนาสายการศึกษาที่เหมาะสม เพื่อจัดพิธีถวายเกียรตินี้ขึ้นเป็นครั้งแรก คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ถวายแก่ "พระมหาคาวี ญาณสาโร" เจ้าอาวาสวัดสะพานคำ อ.เมือง จ.สกลนคร แต่งตั้งเป็น "สำเร็จญาณสารเจ้า สุขุมคัมภีรปัญญาศาสนูปถัมภ์ หิรัญสัมปันนวิโรจน์ เถราภิเษกมหามงคล"

เพื่อเป็นการยกย่องพระสงฆ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่า เป็น "ครู" เป็น "ปราชญ์" 


ปัจจุบัน พระมหาคาวี ญาณสาโร สิริอายุ 40 พรรษา 20 (ขณะที่ประกอบพิธีเถราภิเษก)

สำหรับอัตโนประวัติ พระมหาคาวี มีนามเดิมว่า คาวี สร้อยสาคำ เกิดที่บ้านนาแก้ว ต.นาแก้ว อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร โยมบิดา-มารดา ชื่อนายยังและนางเสถียร สร้อยสาคำ 

เมื่ออายุ 12 ปี ด.ช.คาวี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระครูพิศาลสิกขยุต อดีตเจ้าคณะอำเภอกุสุมาลย์เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้จำพรรษาศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดอรุณแสงทอง บ้านโพนงามโคก 

พ.ศ.2522 สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2523 สอบได้นักธรรมชั้นโท

ช่วงปลายปี พ.ศ.2523 สามเณรคาวี ได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ โดยมาอยู่ที่วัดมหาธาตุ และสามารถสอบได้ นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 1-2 ประโยค

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ กรุงเทพฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ 

ต่อมา พระมหาคาวี ได้ศึกษาสำเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค พร้อมกับสำเร็จการศึกษาพุทธศาสตรบัณทิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พระมหาคาวี ได้เป็นประธานสหภูมิสงฆ์ชาวสกลนคร และเป็นรองประธานคณะกรรมการนิสิตมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดพรหมคุณาราม รัฐอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ.2537 เดินทางกลับมาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดสะพานคำ จ.สกลนคร และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสะพานคำ เนื่องจากอดีตเจ้าอาวาสมรณภาพลง 

หลังเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสะพานคำ พระมหาคาวี ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาและร่วมมือร่วมใจจากพุทธบริษัทชาวสกลนครเป็นอย่างดี 

โดยเฉพาะคุณหญิงสุชาดา อรรถวิจรรยารักย์ ปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์มาโดยตลอด พร้อมกับที่ชาวสกลนคร ต่างได้ร่วมกันฟื้นฟูประเพณีเถราภิเษกให้คงอยู่สืบต่อไป 

สดจากหน้าพระ
โดย สุพจน์ สอนสมนึก

มาจากหนังสือพิมพ์ :