**ขออนุโมทนาแก่ผู้บริจาคสมทบทุนสร้างพุทธอุทยานหนองหารหลวงและมหาเจดีย์บรรจุพระเกศาสมเด็จย่า ดังมีรายนามต่อไปนี้ >>>ดร.มาลินี จรูญธรรม ๓๐๐,ครอบครัวคุณยายอรุณี โฮมไชยา ๕๐๐, นางสาวจำรอง แสงพรหมศรี ๕๐๐, นางพัลลภา กิ่่งแก้ว พร้อมบุตรธิดา ๕๐๐,คุณตาทศพล กุศลเฉลิมวิทย์ ๑๐,๐๐๐<<<
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์บทความรายนามผู้ร่วมสร้างพุทธอุทยานฯรูปภาพห้องสนทนาติดต่อเรา

ขอเชิญรับฟังรายการ "คนดีศรีสังคม" ทุกวันศุกร์-เสาร์ เวลา 19.30-20.00 น. และรายการ "สืบสานวัฒนธรรมไทย" วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.00-17.00 น. ออกอากาศพร้อมกันทั้งระบบ เอเอ็ม เอฟเอ็ม และออนไลน์ทั่วโลก ทางสถานีวิทยุ 909 สกลนคร www.rbs909.com

แนวคิดและหลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา


การศึกษาในพระพุทธศาสนาเริ่มต้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้  อัญญาโกณฑัญญะ เป็นคนแรก  ณ   ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสว่า “จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย ชอบเถิด”  และต่อมาเมื่อทรงอนุญาต ให้พระภิกษุบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้ โดยวิธีการเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย (ติสรณคมนูปสัมปทา) ทรงกำหนดให้ผู้ที่เข้ามาบวชต้องมีครูซึ่งเรียกว่า อุปัชฌาย์ หน้าที่ของอุปัชฌาย์เรียกว่า สัทธิวิหาริกวัตร ส่วนศิษย์ซึ่งเรียกว่า สัทธิวิหาริก มีหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์เรียกว่า อุปัชฌายวัตร ต่อมา เมื่อทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรได้ด้วยพิธีที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา มีกระบวนการซับซ้อนยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหน้าที่ของอาจารย์ซึ่งต้องปฏิบัติต่อศิษย์ เรียกว่า อันเตวาสิกวัตร และทรงกำหนดหน้าที่ ซึ่งศิษย์ต้องปฏิบัติต่ออาจารย์ เรียกว่า อาจริยวัตร นอกจากนี้ หน้าที่ระหว่างครูกับศิษย์นี้ ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามต่อกันความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์อยู่ในฐานะเหมือนบิดากับบุตร ดังพระพุทธดำรัสว่า   “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร    สัทธิวิหาริกจักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌาย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกจักมีความเคารพ ยำเกรงประพฤติกลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้”[1]

๑) หลักของการศึกษาตามแนวพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้  หลักการศึกษาตามแนวพุทธศาสนานั้น บุคคลยังต้องเป็นผู้เรียนรู้หรือต้องศึกษาตลอดเวลา ตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุติ (เสขะ) พระพุทธศาสนาจึงกล่าวถึงการศึกษา “ตลอดชีวิต” (สิกขาสาชีพ) มานานแล้ว ตราบใดที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือบรรลุเป็นพระอรหันต์ บุคคลนั้นก็ยังไม่จบการศึกษา (อเสขะ) คำว่า นักปราชญ์ (พหูสูตร) ก็ดี “ผู้มีการศึกษาดี” (สุสิกขิตะ) ก็ดี “ผู้เชี่ยวชาญ” ก็ดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ที่แท้จริง (อานิสงส์) ของการศึกษาในทัศนะของพระพุทธศาสนา  ตัวอย่างพระอานนท์เถรเจ้าท่านได้ปรารภกับตัวท่านเองว่า “เรายังเป็นเพียงนักเรียน (เสขะ) ผู้ซึ่งยังต้องทำงานให้สมบูรณ์ และพระศาสดาพระองค์ผู้ทรงเมตตานุเคราะห์เรา กำลังจะปรินิพพาน”[2] ทั้งที่พระอานนท์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ (academic expert) บาลีใช้คำว่า สุเมธะ เป็นนักปราชญ์ผู้มีความรู้ดี ท่านก็ยังเห็นว่า ท่านเป็นนักเรียน (เสขะ) ยังไม่จบการศึกษา (อเสขะ) แม้เป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องรู้ข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นอยู่

การศึกษาตามหลักการทางพระพุทธศาสนาเป็นกระบวนการในการพัฒนาผู้เรียน  ซึ่งจะต้องค่อยๆ พัฒนาให้ผู้เรียนก้าวหน้าติดต่อกันจากขั้นต้นไปสู่ขั้นสูงสุด  เหมือนกับการขึ้นบันได หรือเหมือนกับการสอนนับเลข วิธีการนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า อนุบุพพสิกขา (ให้ศึกษาไปตามลำดับขั้น) , อนุปุพพกิริยา (ให้กระทำไปตามขั้นตอน)  และ อนุปุพพปฏิปทา (ให้ดำเนินไปตามขั้นตอน) [3] ขั้นตอนในการให้การศึกษาแบ่งเป็น ๕ ขั้นตอนดังนี้

๑) ทรงแนะนำให้เป็นผู้มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร เห็นความน่ากลัวในโทษสักว่าเล็กน้อย สมาทาน (รับ) ศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย (ปาฏิโมกข์สังวร)

๒) เมื่อผู้เรียน มีความรู้ และปฏิบัติได้ตามข้อแรกแล้ว ทรงแนะนำให้สูงอีกขั้นหนึ่ง คือ ให้สำรวมอินทรีย์ ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่รับอารมณ์ด้วยการรวบถือ  (อนิมิตตัคคาหี) หรือแยกถือ (อนุพยัญชนัคคาหี) แต่ให้พิจารณารับโดยการรู้เท่าทันถึงขั้นข่มอภิชฌา (ความยินดี) และโทมนัส (ความยินร้าย) ได้ (อินทรียสังวร)

๓) เมื่อผู้เรียนผ่านขั้นที่สองแล้ว ทรงแนะนำให้สูงขึ้นไปอีกขั้น คือ ให้รู้จักประมาณในการกิน กินโดยใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างแยบคาย ไม่บริโภคด้วยความสนุกสนานมัวเมา หรือเพื่อประดับตกแต่งให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง อ้วนพี แต่บริโภคเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ (การศึกษา) เป็นต้น (โภชเนมัตตัญญุตา)

๔) เมื่อปฏิบัติขั้นที่สามแล้ว ทรงแนะนำให้สูงขึ้นไปอีก คือ ให้มีความเพียรตลอดเวลา (ชาคริยานุโยค) และให้มีสติสัมปชัญญะในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน (สติสัมปชัญญสมันนาคตะ)

๕) เมื่อผู้เรียนผ่านขั้นที่สี่ไปแล้ว ทรงแนะนำให้สูงขึ้นไปอีก  คือให้พอใจอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ให้เจริญสมาธิภาวนาเพื่อกำจัดนิวรณ์จนสามารถหลุดพ้นจากกิเลส (วิวิตตเสนาสนะ)

การศึกษาจะทำให้ผู้เรียนซื่อตรง สง่างาม ในทุกแง่มุมของชีวิต และทำให้ผู้เรียนรู้เท่าทันในเรื่องต่างๆ คือฉลาด ทั้งในความเจริญ (อายโกศล) ความเสื่อม (อปายโกศล) และรอบรู้วิธีการที่จะแก้ไขสถานการณ์และทำให้สำเร็จ (อุปายโกศล)[4] การศึกษาจะสอนให้ผู้เรียนรู้ว่าทำอย่างไรถูก ทำอย่างไรจึงจะดำรงชีวิตอย่างมีความสำเร็จและมีความสุข นำผู้เรียนไปสู่ความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง ความดีงาม เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีทั้งด้านความรู้ และความประพฤติที่สมบูรณ์ และสุดท้ายนำไปสู่การพ้นทุกข์   กระบวนการของการศึกษาตามแนวพุทธศาสนาเรียกว่า “ไตรสิกขา”[5] เป็นกระบวนการมุ่งฝึกอบรมและพัฒนามนุษย์ทุกคนทุกระดับ โดยพิจารณาส่วนประกอบทั้ง ๓ ส่วนในตัวมนุษย์ คือ  ทั้งกาย จิต และปัญญา เพื่อให้รู้จักดำเนินชีวิตและกระทำกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต  ทั้งต่อบุคคลอื่น ๆ ตลอดจนสรรพสิ่ง เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน[6]  คือ

อธิศีลสิกขา ได้แก่การฝึกฝนอบรมตนทางด้านร่างกายและวาจา หมายถึงระเบียบวินัยและความประพฤติอันเป็นความสุจริตทางกาย ทางวาจา ตลอดถึงการประกอบอาชีพ  สาระของอธิศีล คือ การดำรงตนอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่เกื้อกูล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตนมีส่วนช่วยสร้างสรรค์รักษาให้เอื้ออำนวยแก่การมีชีวิตที่ดีงามร่วมกัน เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิตและการเจริญปัญญา   เป็นการพัฒนาพฤติกรรมทางกาย และวาจา ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องมีผลดี  ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ มี ๒ ประเภทคือ

๑) สิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่เพื่อนมนุษย์ รวมทั้งสัตว์อื่นทั้งหลายทั้งปวงด้วย
๒) สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ได้แก่ปัจจัย ๔ เครื่องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีและสิ่งทั้งหลายที่มีในธรรมชาติ

ซึ่งศีลสามารถแบ่งเป็น ๔ หมวดใหญ่ๆ คือ

๑) การรักษาวินัยแม่บทของชุมชน (ปาฏิโมกขสังวร) เมื่อคนมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นหน่วยงาน หรือองค์กร จะต้องมีกฎเกณฑ์กติกาตลอดจนกฎหมาย เพื่อจัดระบบระเบียบให้เรียบร้อยสมตามวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือชุมชนนั้น เช่น พระสงฆ์มีวินัยแม่บทที่เรียกชื่อเฉพาะว่า ศีล ๒๒๗ ชุมชนอื่นๆ ก็จำเป็นจะต้องมีวินัยแม่บทของตนเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวินัยแม่บทของมนุษยชาติทั้งหมด คือ ศีล ๕ ซึ่งถือเป็นมนุษยธรรม เพราะเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้วิถีชีวิตสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน อยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนและรักษาสังคมให้มีสันติสุข  ส่วนสังคมย่อยลงไป เช่น ประเทศ องค์กร สถาบัน นอกจากจะต้องรักษาศีล ๕ แล้ว ก็ย่อมจะต้องมีวินัยแม่บทที่เป็นส่วนเฉพาะของตนย่อยลงไปอีก เช่น กฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นต้น

๒) การรู้จักใช้อินทรีย์ (อินทรีย์สังวร) มนุษย์รับรู้สิ่งแวดล้อมโดยผ่านอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ารับรู้โดยใช้หูตาไม่เป็น เช่น ดูไม่เป็น ฟังไม่เป็น แทนที่จะเป็นประโยชน์กลับเกิดโทษ เช่น เกิดความลุ่มหลงมัวเมา ถูกหลอกลวงตลอดจนนำไปสู่การใช้มือและสมองเพื่อการแย่งชิงหรือทำลาย จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมการใช้อินทรีย์ ให้ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ  เมื่อดูเป็น  ฟังเป็น เช่น ดูทีวีเป็น ฟังวิทยุเป็น ก็จะรู้จักใช้ตาหูแสวงหาความรู้เป็นต้น ก็จะได้ปัญญา ได้คุณภาพชีวิต และนำไปสู่การใช้มือและสมองเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและทำการสร้างสรรค์  หลักในการใช้อินทรีย์ คือ  ประการแรก ต้องรู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นสิ่งที่จะดูหรือฟัง เป็นต้น แยกแยะให้ออกว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี แล้วเลือกรับฟังเลือกดูแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงการฟังหรือดูสิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งที่เป็นโทษเป็นต้น ประการที่สอง ต้องดูฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ ควบคุมตนเองได้ รู้จักประมาณพอดี ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งที่ดูที่ฟังเป็นต้นนั้น อันอาจจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง สูญเสียเวลา เสียการศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น ประการที่สามต้องไม่เห็นแก่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ติดอยู่แค่ความชอบใจไม่ชอบใจ แต่รู้จักดู รู้จักฟัง ให้ได้คุณค่าที่ดีงามเป็นประโยชน์สูงไปกว่านั้น โดยเฉพาะทีสำคัญคือต้องให้ได้ปัญญาและคติที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตและสังคม

๓) การหาเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์ (อาชีวปาริสุทธิศีล)  การทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นพฤติกรรมหลักของมนุษย์ ถ้ามีผู้หาเลี้ยงชีพโดยวิธีทุจริต นอกจากชีวิตของคนนั้นเองจะชั่วร้ายเสื่อมเสียแล้ว ก็จะก่อความเดือดร้อนแก่สังคมเป็นอย่างมาก สัมมาชีพมีลักษณะสำคัญ คือ เป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อเวรภัยหรือสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่สังคม เป็นอาชีพที่ช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยพัฒนาชีวิตของตนให้งอกงามยิ่งขึ้นทั้งดานพฤติกรรมด้านจิตใจและด้านปัญญา และเป็นอาชีพที่ทำให้ได้ปัจจัยสี่มาเลี้ยงชีวิตด้วยกำลังกาย กำลังสติปัญญา และกำลังความเพียรของตนเอง

๔) การเสพบริโภคปัจจัยโดยใช้ปัญญา (ปัจจัยปฏิเสวนา) คือการใช้ปัญญาทำความเข้าใจ แล้วบริโภคปัจจัยทั้งหลายให้ได้ผลตรงพอดีตามคุณค่าแท้ที่เป็นจุดหมายของการบริโภคสิ่งนั้นๆ คือ บริโภคด้วยการตระหนักรู้ว่าการมี-ใช้-บริโภค สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องช่วยให้เราสามารถพัฒนาชีวิตและทำการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้น บริโภคด้วยความรู้เท่าทันต่อวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบริโภคและการใช้สอย และบริโภคในปริมาณที่พอดีละเว้นการเสพหรือบริโภคสิ่งที่ไม่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนชีวิต เช่น สิ่งทำลายสุขภาพเป็นต้น

อธิจิตตสิกขา ได้แก่การฝึกฝนอบรมตนทางจิต หมายถึงการปลูกฝังสั่งสมด้านคุณธรรมจริยธรรม สร้างเสริมความเข้มแข็งและความมีประสิทธิภาพของจิตเพื่อให้จิตมีสุขภาพและสมรรถภาพที่สมบูรณ์ สาระของอธิจิต คือ การพัฒนาคุณภาพจิต หรือการปรับปรุงจิตให้มีคุณภาพและสมรรถภาพสูง ซึ่งเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีงามและพร้อมที่จะใช้งานในทางปัญญาอย่างได้ผลดีที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือเจตนา และเป็นไปตามเจตจำนงและแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลัง ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาดีแล้ว ก็จะควบคุมพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย แม้ความสุขความทุกข์ในที่สุดก็อยู่ที่ใจ  การพัฒนาจิตใจนี้มีสมาธิเป็นแกน หรือเป็นศูนย์กลาง จึงเรียกง่ายๆ ว่า “สมาธิ” และอาจแยกออกได้เป็นการพัฒนาคุณสมบัติของจิตใจในด้านต่างๆ คือ พัฒนาคุณธรรมซึ่งเป็นคุณภาพของจิตใจ เช่น เมตตา กรุณา เป็นต้น พัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของจิตใจ เช่น ฉันทะ วิริยะ เป็นต้น  และพัฒนาความสุขและภาวะที่เกื้อหนุนสุขภาพของจิตใจ เช่น ปราโมทย์ ความร่าเริง ปิติ ความอิ่มใจ เป็นต้น

อธิปัญญาสิกขา ได้แก่การฝึกฝนอบรมทางปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามสภาพแห่งความเป็นจริง รู้เท่าทันโลกและชีวิตตามที่มันเป็นอย่างไม่พร่ามัว สาระของอธิปัญญา คือ การมองดูรู้จักและเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือรู้เท่าทันธรรมดาของสังขารธรรมทั้งหลาย ที่ทำให้เป็นอยู่และทำการต่างๆ ด้วยปัญญา คือ รู้จักวางใจวางท่าทีและปฏิบัติต่อโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ในทางที่เป็นไปเพื่อแผ่ขยายประโยชน์สุข มีจิตใจผ่องใส ไร้ทุกข์ เป็นอิสระเสรี และสดชื่นเบิกบาน[7]   การพัฒนาด้านปัญญาเป็นเรื่องกว้างขวาง แยกออกไปได้หลายด้านและมีหลายขั้นหลายระดับ เช่น ปัญญาที่ช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ปัญญาที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตเข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม  ปัญญาที่ช่วยให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิต เป็นต้น

สาระสำคัญของไตรสิกขา  แสดงออกมาไม่เฉพาะการปฏิบัติของบุคคลเท่านั้น  แต่ส่องถึงภารกิจที่มนุษย์จะต้องทำในระดับชุมชนและสังคมด้วย  กล่าวคือ การจัดวางระบบแบบแผน จัดแจงกิจกรรมและวิธีการต่างๆ เพื่อให้สาระของไตรสิกขาเป็นไปในหมู่มนุษย์หรือให้มนุษย์ดำรงอยู่ในสาระของไตรสิกขา

[1]วิ.มหา. ๔/๘๐/๖๕.
[2]ที.มหา. ๑๐/๒๐๗/๑๕๔.
[3]ม.อุปริ. ๑๔/๙๔/๑๑๑.
[4]ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๒๗๔.
[5]พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๑๒๗.
[6]พระราเชนทร์ วิสารโท (ไชยเจริญ), “การศึกษาเชิงวิเคราะห์หลักพุทธธรรมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพระพุทธศาสนา”, วิทยานิพนธ์ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย), ๒๕๔๖, หน้า ๘.
[7]พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรมฉบับปรับปรุงขยายความ, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สหธรรมิก, ๒๕๓๙), หน้า ๖๐๓-๖๐๔.