**ขออนุโมทนาแก่ผู้บริจาคสมทบทุนสร้างพุทธอุทยานหนองหารหลวงและมหาเจดีย์บรรจุพระเกศาสมเด็จย่า ดังมีรายนามต่อไปนี้ >>>ดร.มาลินี จรูญธรรม ๓๐๐,ครอบครัวคุณยายอรุณี โฮมไชยา ๕๐๐, นางสาวจำรอง แสงพรหมศรี ๕๐๐, นางพัลลภา กิ่่งแก้ว พร้อมบุตรธิดา ๕๐๐,คุณตาทศพล กุศลเฉลิมวิทย์ ๑๐,๐๐๐<<<
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์บทความรายนามผู้ร่วมสร้างพุทธอุทยานฯรูปภาพห้องสนทนาติดต่อเรา

ขอเชิญรับฟังรายการ "คนดีศรีสังคม" ทุกวันศุกร์-เสาร์ เวลา 19.30-20.00 น. และรายการ "สืบสานวัฒนธรรมไทย" วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.00-17.00 น. ออกอากาศพร้อมกันทั้งระบบ เอเอ็ม เอฟเอ็ม และออนไลน์ทั่วโลก ทางสถานีวิทยุ 909 สกลนคร www.rbs909.com

พระพุทธศาสนาเน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยและวิธีการแก้ปัญหา




หลักของเหตุปัจจัย หรือหลักความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นหลักของเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า “กฎปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมีสาระโดยย่อดังนี้

“เมื่ออันนี้มี อันนี้จึงมี เมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี เพราะอันนี้เกิด อันนี้จึงเกิด เพราะอันนี้ดับ อันนี้จึงดับ”นี่เป็นหลักความจริงพื้นฐาน ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ หรือในชีวิตประจำวันของเรา “ปัญหา”ที่เกิดขึ้นกับตัวเราจะเป็นปัญหาลอย ๆ ไม่ได้ จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา หากเราต้องการแก้ไขปัญหาก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยในการแก้ไขหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีเพียงปัจจัยเดียวหรือมีเพียงหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

คำว่า “เหตุปัจจัย” พุทธศาสนาถือว่า สิ่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้นไม่ใช่เหตุอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ด้วยเมื่อมีปัจจัยหลายปัจจัยผลก็เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เราปลูกมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมาต้นมะม่วงถือว่าเป็นผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นต้นมะม่วงจะเกิดขึ้นเป็นต้นที่สมบูรณ์ได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นต้นมะม่วงได้ เหตุปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ เมล็ดมะม่วง ดิน น้ำ ออกซิเจน แสงแดด อุณหภูมิที่พอเหมาะ ปุ๋ย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้พรั่งพร้อมจึงก่อให้เกิดต้นมะม่วง ตัวอย่างความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย เช่น ปัญหาการมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการเรียนของนักเรียน มีเหตุปัจจัยหลายเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเรียนอ่อน เช่น ปัจจัยจากครูผู้สอน ปัจจัยจากหลักสูตรปัจจัยจากกระบวนการเรียนการสอนปัจจัยจากการวัดผลประเมินผล ปัจจัยจากตัวของนักเรียนเอง เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย หรือหลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการของสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างเป็นกระแส ในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่าง ๆ ได้คือ

- สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน 

- สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์กัน

- สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย

- สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว (มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง)

- สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน

- สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกำเนิดเดิมสุด แต่มีความสัมพันธ์แบบวัฏจักร หมุนวนจนไม่ทราบว่าอะไรเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริง



หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาของพระพุทธศาสนาที่เน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยมีมากมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงหลักคำสอน 2 เรื่อง คือ ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ 4




กฎปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท คือ การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น เป็นกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ การที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบกฎนี้นี่เอง พระองค์จึงได้ชื่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กฏปฏิจจสมุปบาท เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฏอิทัปปัจจยตา ซึ่งก็คือ กฏแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันนั่นเอง

กฏปฏิจจสมุปบาท คือ กฏแห่งเหตุผลที่ว่า ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็มี ถ้าสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ประกอบ 12 ประการ คือ

1) อวิชชา คือความไม่รู้จริงของชีวิตไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ไม่รู้เท่าทันตามสภาพที่เป็นจริง 

2) สังขาร คือความคิดปรุงแต่ง หรือเจตนาทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล 

3) วิญญาณ คือความรับรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส

4) นามรูป คือความมีอยู่ในรูปธรรมและนามธรรม ได้แก่ กายกับจิต 

5) สฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ 

6) ผัสสะ คือการถูกต้องสัมผัส หรือการกระทบ 

7) เวทนา คือความรู้สึกว่าเป็นสุข ทุกข์ หรืออุเบกขา 

8) ตัณหา คือความทะเยอทะยานอยากหรือความต้องการในสิ่งที่อำนวยความสุขเวทนา และความดิ้นรนหลีกหนีในสิ่งที่ก่อทุกขเวทนา 

9) อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน 

10) ภพ คือพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อสนองอุปาทานนั้นๆ เพื่อให้ได้มาและให้เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่น 

11) ชาติ คือความเกิด ความตระหนักในตัวตน ตระหนักในพฤติกรรมของตน 

12) ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ คือความแก่ ความตาย ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ และความคับแค้นใจหรือความกลัดกลุ่มใจ



องค์ประกอบทั้ง 12 ประเภทนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า องค์ประกอบแห่งชีวิต หรือกระบวนการของชีวิต ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันทำนองปฏิกิริยาลูกโซ่ เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน โยงใยเป็นวงเวียนไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือ



เพราะมีอวิชชา จึงมี สังขาร
เพราะมีสังขาร จึงมี วิญญาณ
เพราะมีวิญญาณ จึงมี นามรูป
เพราะมีนามรูป จึงมี สฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะ จึงมี ผัสสะ
เพราะมีผัสสะ จึงมี เวทนา

เพราะมีเวทนา จึงมี ตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงมี อุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงมี ภพ
เพราะมีภพ จึงมี ชาติ
เพราะมีชาติ จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ

องค์ประกอบของชีวิตตามกฏปฏิจจสมุปบาทดังกล่าวนี้เป็นสายเกิดเรียกว่า สมุทัยวาร

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราสามารถรู้เท่าทันกระบวนการของชีวิตและกำจัดเหตุเสียได้ผลก็ย่อมสิ้นสุดลง ปฏิจจสมุปบาทดังกล่าวนี้เป็นสายดับเรียกว่า นิโรธวาร ซึ่งมีลำดับความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันดังนี้

เพราะ อวิชชา ดับ สังขารจึงดับ
เพราะ สังขาร ดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะ วิญญาณ ดับ นามรูปจึงดับ
เพราะ นามรูป ดับ สฬายตนะ จึงดับ 
เพราะ สฬายตนะ ดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะ ผัสสะ ดับ เวทนา จึงดับ

เพราะ เวทนา ดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะ ตัณหา ดับอุปาทาน จึงดับ
เพราะ อุปาทาน ดับ ภพจึงดับ 
เพราะ ภพ ดับ ชาติ จึงดับ
เพราะ ชาติ ดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ จึงดับ

หลักอริยสัจ 4 หมายถึง หลักความจริงอันประเสริฐ

จากกฏปฏิจจสมุปบาทหรือกฎอิทัปปัจจยตาที่ว่าอวิชชาเป็นตัวเหตุของทุกสิ่งทุกอย่าง อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ดังนั้น กฎปฏิจจสมุปบาท เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ อริยสัจ 4 นั่นเอง

 อริยสัจ  หมายถึง หลักความจริงอันประเสริฐหรือหลักความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงเป็นผู้ประเสริฐ มี 4 ประการ คือ

1)  ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือสภาพที่บีบคั้นจิตใจให้ทนได้ยาก ทุกข์เป็นสภาวะที่จะต้องกำหนดรู้

2)  สมุทัย(ทุกขสมุทัย) หมายถึง ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา สมุทัยเป็นสภาวะที่จะต้องละหรือทำให้หมดไป

3)  นิโรธ(ทุกนิโรธ)หมายถึง ความดับทุกข์ หรือสภาวะที่ปราศจากทุกข์ เป็นสภาวะที่ต้องทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง

4)  มรรค (ทุกขนิโรธคามินีปฎิปทา) หมายถึง ทางดับทุกข์ หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งสรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา  มรรคเป็นสภาวะที่ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจึงจะไปสู่ความดับทุกข์ได้

อริยสัจ 4 นี้ถ้าวิเคราะห์กันในเชิงวิทยาการสมัยใหม่ก็คือ ศาสตร์แห่งเหตุผล เพราะอริยสัจ 4 จัดได้เป็น 2 คู่ แต่ละคู่เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน

เมื่อวิเคราะห์ในทางกลับกัน จากกฏที่ว่า เมื่อมีทุกข์ ก็ต้องมีความดับทุกข์ อริยสัจ คู่ที่สอง(นิโรธและมรรค) กลายเป็นเหตุที่นำไปสู่ผล คือ การดับอริยสัจคู่แรก (ทุกข์และสมุทัย) อันเป็นการย้อนศรอีกรอบหนึ่ง 

จะเห็นชัดว่า อริยสัจ 4 เป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นระบบเหตุผล คือ เมื่อมีเหตุเกิดแห่งทุกข์ (สมุทัย) ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ (ทุกข์) ในขณะเดียวกัน หากต้องการสภาวะหมดทุกข์ (นิโรธ) ก็ต้องกำจัดเหตุเกิดแห่งทุกข์ คือตัณหาด้วยการปฏิบัติตามมรรค 8 (มรรค)

วิธีแก้ปัญหาตามแนวพระพุทธศาสนา 

พระพุทธศาสนาเน้นการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ตามหลักของเหตุผล ไม่หวังการอ้อนวอนจากปัจจัยภายนอก เช่น เทพเจ้า รุกขเทวดา ภูตผีปีศาจ เป็นต้น จะเห็นได้จากตัวอย่างคำสอนในคาถาธรรมบท แปลความว่า มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งแต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สรณะอันเกษม

เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) ย่อมไม่สามารถหลุดพันจากความทุกข์ทั้งปวง…แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ 4 เห็นปัญหา เหตุเกิดของปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหาจึงจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้” ดังนั้นมนุษย์ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการของมนุษย์ที่เพียรทำการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย หลักการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์คือ

1. ทุกข์ คือ การเกิดปัญหา หรือรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร

2. สมุทัย คือ การสืบหาสาเหตุของปัญหา 

3. นิโรธ คือ กำหนดแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น

4. มรรค คือ ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงการแก้ไขปัญหา หรือวิธีการดับปัญหาได้

หลักการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 นี้ มีคุณค่าเด่นที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้

1. เป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตามระบบแห่งเหตุผล เป็นระบบวิธีแบบอย่าง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ที่จะมีคุณค่าและสมเหตุผล จะต้องดำเนินไปในแนวเดียวกันเช่นนี้

2. เป็นการแก้ปัญหาและจัดการกับชีวิตของตน ด้วยปัญญาของมนุษย์เอง โดยนำเอาหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องอ้างอำนาจดลบันดาลของตัวการพิเศษเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ

3. เป็นความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่ามนุษย์จะเตลิดออกไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ห่างไกลตัวกว้างขวางมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเขายังจะต้องมีชีวิตของตนเองที่มีคุณค่าและสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกเหล่านั้นอย่างมีผลดีแล้ว เขาจะต้อง
เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากหลักความจริงนี้ตลอดไป

4. เป็นหลักความจริงกลาง ๆ ที่ติดเนื่องอยู่กับชีวิต หรือเป็นเรื่องของชีวิตเองแท้ ๆ ไม่ว่ามนุษย์จะสร้างสรรค์ศิลปวิทยาการ หรือดำเนินกิจการใด ๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของตน และไม่ว่าศิลปวิทยาการ หรือกิจการต่าง ๆ นั้น จะเจริญขึ้น 
เสื่อมลง สูญสลายไป หรือเกิดมีใหม่มาแทนอย่างไรก็ตาม หลักความจริงนี้ก็จะคงยืนยงใหม่ และใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอดทุกเวลา

การศึกษายุคดิจิตอล