**ขออนุโมทนาแก่ผู้บริจาคสมทบทุนสร้างพุทธอุทยานหนองหารหลวงและมหาเจดีย์บรรจุพระเกศาสมเด็จย่า ดังมีรายนามต่อไปนี้ >>>ดร.มาลินี จรูญธรรม ๓๐๐,ครอบครัวคุณยายอรุณี โฮมไชยา ๕๐๐, นางสาวจำรอง แสงพรหมศรี ๕๐๐, นางพัลลภา กิ่่งแก้ว พร้อมบุตรธิดา ๕๐๐,คุณตาทศพล กุศลเฉลิมวิทย์ ๑๐,๐๐๐<<<
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์บทความรายนามผู้ร่วมสร้างพุทธอุทยานฯรูปภาพห้องสนทนาติดต่อเรา

ขอเชิญรับฟังรายการ "คนดีศรีสังคม" ทุกวันศุกร์-เสาร์ เวลา 19.30-20.00 น. และรายการ "สืบสานวัฒนธรรมไทย" วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.00-17.00 น. ออกอากาศพร้อมกันทั้งระบบ เอเอ็ม เอฟเอ็ม และออนไลน์ทั่วโลก ทางสถานีวิทยุ 909 สกลนคร www.rbs909.com

ปริวาสกรรมคืออะไร



งานปริวาสกรรม คือกิจของสงฆ์ที่พึงชำระศีลของตนเองให้บริสุทธิ์ ดังนั้นการที่เราช่วยในกิจของสงฆ์ตามที่ฆราวาสสามารถช่วยได้ ก็เท่ากับเอื้อความสะดวกให้กับพระสงฆ์ท่าน จึงมีอานิสงฆ์มาก
คำว่า ปริวาส นี้มีมาแต่สมัยพุทธกาล เป็นชื่อของสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่สงฆ์จะพึงกระทำเพื่อการอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่า “การอยู่กรรม” เรียกรวมกันว่า “ปริวาสกรรม” เป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับภิกษุที่ต้องอาบัติ "สังฆาทิเสส" แล้วปกปิดไว้ ทั้งที่เกิดโดยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ และอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จึงต้องประพฤติเพื่อเป็นการลงโทษตัวเองให้ครบเท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติไว้ เพื่อให้พ้นมลทินและเพื่อความบริสุทธิ์ในการบำเพ็ญเพียรในทางจิตของพระภิกษุสงฆ์ต่อไป
ปริวาส มี ๓ ประเภท คือ
๑. ปฏิจฉันนปริวาส (สำหรับผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วปิดไว้)
๒. สโมธานปริวาส  (สำหรับผู้ที่ต้องอาบัติแล้วปิดไว้ ต่างวันที่ปิดบ้าง ต่างวัตถุที่ต้องบ้าง)
๓. สุทธันตปริวาส  (สำหรับผู้ต้องอาบัติแล้วปิดไว้ มีส่วนเท่ากันบ้างไม่เท่ากันบ้าง) 

แต่ยังมีปริวาสอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นปริวาสสำหรับนักบวชนอกศาสนา ที่ต้องประพฤติก่อนที่จะบวชเข้ามาอยู่ในพระธรรมวินัย เรียกว่า "ติตถิยปริวาส" ซึ่งจัดเป็น "อปฏิจฉันนปริวาส" (สำหรับผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วไม่ปิดไว้) 
               

การอยู่ปริวาสกรรมนั้น เจาะจงไว้บุคคล ๒ จำพวก คือ

• สำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่แล้ว แต่ต้องครุกาบัติ 

• สำหรับคฤหัสถ์ หรือพวกเดียรถีย์


ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์
เป็นปริวาสตามปกติสำหรับภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ต้อง “ครุกาบัติ” (ต้องโทษ) สังฆาทิเสสเข้า จึงจำเป็นต้องประพฤติปริวาสเพื่อให้หลุดพ้นจากความมัวหมอง ตามเงื่อนไขทางพระวินัยและเงื่อนไขของสงฆ์  (วิ.จุล.๖/๘๔/๑๐๖)

ปริวาสกรรมสำหรับคฤหัสถ์ หรือพวกเดียรถีย์
เนื่องด้วยมีคฤหัสถ์จำนวนมากที่ไม่เคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน คือ ไม่ได้นับถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่นๆ มาก่อน ที่เรียกว่า 
"เดียรถีย์" แต่ภายหลังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และต้องการที่จะนับถือพุทธศาสนาด้วยการจะขอบวชหรือไม่ก็ได้ พระพุทธเจ้าจะทรงพิจารณาให้คนเหล่านี้ได้อบรมตนเสียก่อนเป็นเวลา ๔ เดือน ปริวาสประเภทนี้เรียกว่า "ติตถิยปริวาส" 

แต่เดิมผู้ที่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนนั้น หมายถึง อัญเดียรถีย์ชาตินิครนถ์เท่านั้น แต่ต่อมาได้แก้ไขให้หมายถึง “อาชีวก หรือ อเจลกะ ผู้เป็นปริพาชกเปลือยเท่านั้นฯ” 
ส่วนเดียรถีย์ผู้ไม่เคยบวชในพระพุทธศาสนานี้ การอยู่ปริวาส ๔ เดือน ท่านเรียกว่า “อัปปฏิจฉันนปริวาส” ฯ (สมนต.๓/๕๓-๕๔)

ขั้นตอนการปฏิบัติตนเพื่อการออกจากอาบัติ สังฆาทิเสส นั้น เรียกว่า “การประพฤติวุฏฐานวิธี” แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้
๑. อยู่ประพฤติปริวาส
๒. ประพฤติมานัตอย่างน้อย ๖ ราตรี
๓. ประพฤติมูลายปฏิกัสสนา (อาบัติใหม่ที่ต้องโทษเพิ่มขึ้นอีก)
๔. พระสงฆ์ ๒๐ รูป ให้อัพภาน

ในการทำสังฆกรรมตามขั้นตอนของการประพฤติวุฏฐานวิธีนั้น ต้องประกอบด้วยคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายคณะสงฆ์พระอาจารย์กรรม (พระพี่เลี้ยง) ที่เป็นผู้ดูแลความประพฤติของสงฆ์ผู้ขอปริวาส 
ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่พระวินัยกำหนด, และอีกฝ่ายหนึ่งคือพระภิกษุผู้ประพฤติปริวาส หรือ พระลูกกรรม ซึ่งเป็นสงฆ์ที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

ขั้นตอนการอยู่ประพฤติปริวาส 
สำหรับขั้นตอนของการอยู่ปริวาส หรือ “การอยู่กรรม” นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของปริวาสนั้นๆ ว่า สงฆ์ผู้ต้องอาบัติขอปริวาสอะไร ซึ่งมีลักษณะและเงื่อนไขของปริวาสแต่ละประเภทแตกต่างกันไป

ลักษณะและเงื่อนไขของปริวาสแต่ละประเภท
ปฏิฉันนปริวาส (อาบัติที่ต้องครุกาบัติเข้าแล้วปิดไว้) 
เมื่อขอปริวาสประเภทนี้ จะต้องอยู่ประพฤติให้ครบตามจำนวนราตรีที่ตนปิดไว้ ซึ่งจำนวนราตรีที่ปิดไว้ นานเท่าใดก็ต้องอยู่ประพฤติปริวาสนานเท่านั้น โดยไม่ประมวลอาบัติใดๆ

สโมธานปริวาส (สำหรับผู้ที่ต้องอาบัติแล้วปิดไว้ ต่างวันที่ปิดบ้าง ต่างวัตถุที่ต้องบ้าง)
ปริวาสประเภทนี้ต้องอยู่ประพฤติปริวาสตามจำนวนราตรีที่ปิดไว้นานที่สุด ตามการประมวลอาบัติที่ต้องแต่ละคราวเข้าด้วยกัน ถ้าในระหว่างที่ภิกษุกำลังอยู่ระหว่างประพฤติปริวาสนั้น ภิกษุนั้น
ต้องครุกาบัติซ้ำเข้าอีก ไม่ว่าจะเป็นอาบัติเดิม หรืออาบัติใหม่ที่ต้องเพิ่มโทษ ซึ่งทางวินัยเรียกว่า  “มูลายปฏิกัสสนา” หรือ ปฏิกัสสนา ซึ่งการเพิ่มโทษนี้ไม่ได้ทำให้การอยู่ปริวาสเสียหายแต่อย่างใด 
เพียงแต่ทำให้การประพฤติปริวาสต้องล่าช้าออกไปเท่านั้นเอง

อัปปฏิฉันนปริวาส
สำหรับปริวาสประเภทนี้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ได้จัดให้เป็นปริวาสสำหรับพวกเดียรถีย์ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เหตุที่ว่าเมื่อพวกเดียรถีย์มีความศรัทธาเลื่อมใสและต้องการที่จะบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ก็จะอนุญาตให้คนเหล่านี้ต้องอยู่เพื่อประพฤติอัปปฏิฉันนปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน แต่การอยู่ปริวาสประเภทนี้ใช้อยู่แต่ในสมัยของพระพุทธองค์เท่านั้น และได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

สุทธันตปริวาส 
เป็นปริวาสที่นิยมจัดอยู่ในปัจจุบัน เป็นปริวาสที่ไม่มีกำหนดแน่นอน นับราตรีไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะสงฆ์ที่จะให้อยู่ประพฤติเป็นเวลาเท่าใด จะมีความเห็นว่าให้อยู่เพียงราตรีหนึ่ง หรืออยู่ถึง ๒-๓ ปี ก็ต้องยอมปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก ทั้งนี้ก็เพราะสุทธันตปริวาสมีเงื่อนไขน้อยที่สุด แต่ผู้ปฏิบัติเกิดความมั่นใจมากที่สุด ภิกษุที่จะขอปริวาสเพียงกล่าวกับคณะสงฆ์ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าต้อง''อาบัติสังฆาทิเสสหลายตัว ไม่รู้ที่สุดแห่งอาบัติ ๑ ไม่รู้ที่สุดแห่งราตรี ๑ ระลึกที่สุดแห่งอาบัติไม่ได้ ๑ ระลึกที่สุดแห่งราตรีไม่ได้ ๑ สงสัยในที่สุดแห่งอาบัติ ๑ สงสัยในที่สุดแห่งราตรี ๑, ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปริวาสจนกว่าจะบริสุทธิ์เพื่ออาบัติเหล่านั้น” (วิ.จุล.๖/๑๕๖/๑๘๒)

เนื่องจากปริวาสประเภทนี้ไม่มีกำหนดแน่นอนดังกล่าว อยู่ไปเรื่อยๆ (ตามคำคณะสงฆ์) จนกว่าจะบริสุทธิ์ ดังนั้นจึงได้แบ่งการประพฤติ สุทธันตปริวาส นี้ออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑. จุฬสุทธันตปริวาส (สุทธันตปริวาสอย่างย่อย) เป็นปริวาสของภิกษุผู้ต้องอาบัติหลายคราวด้วยกัน แต่ละคราวก็ปิดไว้ แต่ก็ยังพอจำจำนวนครั้งที่อาบัติ และจำจำนวนวันได้บ้าง จึงขออยู่เพื่อประพฤติปริวาสจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ ซึ่งโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้คณะสงฆ์จะให้อยู่ ๓ ราตรีเป็นเกณฑ์ น้อยกว่านี้ไม่ได้ แต่มากกว่านี้ไม่เป็นไร
๒. มหาสุทธันตปริวาส (สุทธันตปริวาสอย่างใหญ่) ใช้สำหรับภิกษุผู้ต้องอาบัติหลายคราวแต่ปกปิดไว้ และจำจำนวนอาบัติไม่ได้ จำจำนวนวันและจำนวนครั้งที่อาบัติไม่ได้ จึงใช้วิธีการกะประมาณวันที่ต้อง
อาบัติ ซึ่งอาจจะขอปริวาสประมาณ ๑ เดือนก็รู้สึกว่าควรถือว่าบริสุทธิ์และใช้ได้ แต่เนื่องจากวิธีนี้ไม่มีเวลาที่แน่นอนและเกิดความยุ่งยาก จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

เงื่อนไขของการอยู่ประพฤติปริวาส 
การอยู่ประพฤติปริวาสทุกประเภท มีเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติขณะที่อยู่ประพฤติปริวาส ๓ กรณีด้วยกัน คือ สหวาโส (การอยู่ร่วม), วิปวาโส (การอยู่ปราศ) และ อนาโรจนา (การไม่บอกวัตรที่ประพฤติ) 
ภิกษุที่ประพฤติปริวาสและทำผิดเงื่อนไข ก็จะถือว่าการอยู่ปริวาสของภิกษุนั้นเป็นโมฆะ นับราตรีไม่ได้ ซี่งทางวินัย เรียกว่า “รัตติเฉท” (การขาดแห่งราตรี) ซึ่งจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

อีกเรื่องหนึ่งที่ภิกษุควรระวังสำหรับการอยู่ปริวาส คือ “วัตตเภท” (ความแตกต่างแห่งวัตร) เป็นความแตกต่างแห่งข้อปฏิบัติในขณะที่อยู่ในปริวาส อันทำให้วัตรมัวหมองด่างพร้อย การละเลยวัตร ละเลย
หน้าที่ หรือกระทำผิดต่อพุทธบัญญัติโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ภิกษุให้อุปัฏฐากเข้ามารับใช้ในขณะอยู่ปริวาส หรือ เข้านอนร่วมชายเดียวกันกับภิกษุรูปอื่น หรือ นั่งบนอาสนะที่สูงกว่าอาสนะของคณะสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์กรรม เป็นต้น

สหวาโส (การอยู่ร่วม) 
การอยู่ร่วมนี้ หมายถึง การอยู่ร่วมระหว่างภิกษุที่อยู่ปริวาสด้วยกัน หรืออยู่ร่วมกับพระอาจารย์กรรมในที่มุงเดียวกัน ทั้งนี้ท่านก็เพ่งเจาะจงเฉพาะอาการ “นอน” ในที่มุงบังหรือหลังคาเดียวกันเป็นสำคัญ 
และคำว่าที่มุงบังนั้น ท่านหมายเอาแต่วัตถุที่เกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ใช้เครื่องมือสร้างขึ้นมาเท่านั้น เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ภายในเต็นท์ ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงที่มุงบังโดยธรรมชาติ เช่น ใต้ร่มไม้ 
เป็นต้น แต่ถ้าในระหว่างอยู่ปริวาสนั้นเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนตกหนัก ลมแรง หรือต้องปฏิบัติธรรมร่วมกัน ก็อนุญาตให้อยู่ในที่มุงบังนั้นได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่มีการทอดกายนอน และเมื่อ
จวนสว่าง ภิกษุต้องออกไปให้พ้นจากที่มุงบังนั้น หรือที่เรียกว่า “ออกไปรับอรุณ”

วิปวาโส (การอยู่ปราศ) หมายถึง ห้ามภิกษุอยู่โดยปราศจากอาจารย์กรรม โดยที่ภิกษุที่อยู่ประพฤติปริวาสนั้นจะอยู่กันเองตามลำพังไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่างน้อยต้องมีอาจารย์กรรมในคณะสงฆ์ ๑ รูป (๔ รูป สำหรับการอยู่มานัต) เพื่อเป็นการคุ้มกรรมไว้ แต่ทั้งนี้ตามวินัยได้กำหนดขอบเขตของ วิปวาโส ไว้ว่า ภิกษุซึ่งเป็นพระลูกกรรมผู้อยู่ประพฤติปริวาสนั้น จะต้องอยู่ไม่ไกลเกิน ๒ ช่วง “เลฑฑฺบาต” (ระยะที่คนอายุปานกลางขว้างก้อนดินให้ตกเป็นระยะทาง ๒ ช่วงต่อกัน) โดยมีจุดที่คณะสงฆ์พระอาจารย์อยู่นั้นเป็นจุดศูนย์กลาง แล้ววัดออกไปให้ถึงภิกษุผู้ที่ปักกลดอยู่องค์แรกที่ใกล้ที่สุด ส่วนภิกษุรูปอื่นก็ถือว่าปักกลดกันต่อๆ กัน เสมือนหนึ่งอยู่ในระยะหัตถบาส ซึ่งการกำหนดขอบเขตนี้ต้องขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ที่เป็นอาจารย์กรรมท่านชี้และอนุญาตให้อยู่ได้ ซึ่งรวมถึงภิกษุที่ต้องไปนอนโรงพยาบาลเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องมีอาจารย์กรรมไปเฝ้าไข้ด้วยตลอดเวลา อย่าให้เกินขอบเขตที่กำหนดไว้

อนาโรจนา (การไม่บอกวัตร) 
การที่ภิกษุที่อยู่ประพฤติปริวาสโดยไม่บอกวัตร หรือไม่บอกอาการที่ตนประพฤติแก่คณะสงฆ์อาจารย์กรรมในสำนักที่ตนอยู่ปริวาสนั้น เพราะตามหลักพระวินัยจะต้องบอกวัตรแก่คณะสงฆ์
อาจารย์กรรมเพียงครั้งเดียวก็อยู่จนครบ ๓ ราตรีได้ ส่วนลำดับของการบอกวัตร มีดังนี้
• สมาทานวัตร               • การบอกวัตร               • การเก็บวัตร

การบอกวัตร
“การบอกวัตร” นั้น ไม่จำเป็นต้องบอกทุกวัน (แต่สามารถบอกได้ทุกวัน วันละกี่ครั้งก็ได้ ไม่มีข้อกำหนด) แต่การบอกวัตรนั้นต้องบอกแก่อาจารย์กรรมทุกรูป และตราบใดที่ยังไม่ได้เก็บวัตรก็ต้องบอกวัตรแก่พระอาคันตุกะด้วยไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน การไม่บอกวัตรถือเป็น “รัตติเฉท” และถ้ามีเจตนาไม่บอกก็เป็น “อาบัติทุกกฎ” ส่วนข้อกำหนดสำหรับการบอกวัตรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติของคณะสงฆ์อาจารย์กรรมเป็นผู้กำหนด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติ

การเก็บวัตร
“การเก็บวัตร” ก็คือ การพักวัตรไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมักจะทำการเก็บวัตรในเวลากลางวัน เพราะเมื่อมีการเก็บวัตร (พักวัตรไว้ระยะหนึ่ง) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง บอกวัตรบ่อยๆ เมื่อมีพระอาคันตุกะที่แวะผ่านเข้ามา และเพื่อประโยชน์ในการที่คณะสงฆ์ทำสังฆกรรมเมื่อมีสงฆ์ไม่ครบองค์ตามพระวินัยกำหนดด้วยรายละเอียดในเรื่องปริวาส ทั้งหมดนำเอามาลงไว้เพื่อจะได้เข้าใจว่า คือ อะไรที่แท้จริง เพราะหลายท่านเข้าใจผิด ว่าเป็นเรื่องบวชถือศีลของฆราวาส จริงๆ แล้วเป็นกิจของพระสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ เพื่อชำระศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย

โดย อาจารย์คนวัด บ้านดวงธรรม