ตามความเชื่อที่ว่าแต่เดิมขอมปกครองเมืองนี้มาก่อน ยังปรกกฏในตำนานนิทานพื้นบ้านเล่าสืบกันมาจนทุกวันนี้คือ ตำนานฟานด่อนหรือเก้งเผือกและนิทานเรื่องกะฮอกด่อน หรือกระรอกเผือก ตำนานฟานด่อนเป็นตำนานที่ปรากฏอยู่ในหนังสืออุรังคนิทาน เป็นเรื่องอธิบายสาเหตุที่เมืองเก่าซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณท่านางอาบ บ้านท่าศาลา บ้านน้ำพุ ริมหนองหารถล่มล่มลงในหนองหาร และแล้วมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บริเวณธาตุเชิงชุมอีกฝั่งหนึ่งของหนองหาร โดยพระยาสุวรรณภิงคารโอรสพญาขอมตำนานเรื่องนี้ ยังมีความสอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านอีกหลายแห่งริมหนองหาร จึงทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงจนถือกันว่า เมื่ออยู่ในหนองหารไม่ควรพูดถึงเรื่องนี้จะได้รับอันตราย เรือจะล่ม ถูกเงือกทำร้าย หรือหาปลาไม่ได้ผล
ในส่วนนิทานกะฮอกด่อนแม้ว่าจะเป็นการอธิบายการเกิดหนองน้ำขนาดใหญ่ทั่วไปก็ตาม แต่ชาวสกลนคร ก็เชื่อว่านิทานเรื่องนี้เป็นที่มาของการถล่มทลายหนองหาร ซึ่งเกิดการกระทำของพญานาค
หนองหารสกลนคร
หนองหาร ที่ตั้งและอาณาเขต หนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งอยู่ประมาณเส้นรุ้งที่ 107 องศา 6 ลิปดาเหนือ กับเส้นแวงที่ 104 องศา 8 ลิปดาตะวันออกถึง 104 องศา 18 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 158 เมตร ความกว้างประมาณ 7 กิโลเมตร ยาว 18 กิโลเมตร พื้นที่รวมทั้งสิ้น 123 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเขตการปกครองเทศบาลเมืองสกลนคร กับอีก 10 ตำบล ของอำเภอเมืองสกลนครและอำเภอโพนนาแก้ว ได้แก่ ตำบลธาตุเชิงชุม ตำบลธาตุนาเวง ตำบลเชียงเครือ ตำบลท่าแร่ ตำบลนาแก้ว ตำบลบ้านแป้นตำบลนาตงวัฒนา ตำบลม่วงลาย ตำบลเหล่าปอแดง และตำบลงิ้วด่อน
หลักฐานทางโบราณคดีบริเวณหนองหาร
จังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคอีสานตอนบน ในบริเวณที่เรียกว่า “แอ่งสกลนคร” โดยมีแนวเทือกเขาภูพานเป็นแนวยาวทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกและทิศใต้ มีพื้นที่ราบอยู่ทางทิศตะวันออกลาดเอียงเข้าสู่ชายฝั่งแม่น้ำโขง สกลนครจึงนับว่าเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์มาหลายยุคหลายสมัย ต่อเนื่องมานับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น ภาพสลักผาหินที่ถ้ำผายนต์ หรือ ถ้ำผาลาย ถ้ำพระด่านแร้ง และภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำผักหวาน นอกจากนี้ยังปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับภาชนะเครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ตลอดจนเครื่องสำริด และเครื่องโลหะ ซึ่งจากหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในจังหวัดสกลนครนี้เชื่อว่ามีอายุร่วมสมัยเดียวกันกับวัฒนธรรบ้านเชียง และนอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดีจำนวนมากตั้งแต่สมัยทวารวดีโดยมีการพบใบเสมาหิน พระพุทธรูปสมัยทวารวดีกระจายอยู่ทั่วไปซึ่งอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจากขอมเช่นปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ปราสาทบ้านพินนา ศิลาจารึกอักษรขอมที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารจากประวัติและหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดสกลนครดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณในบริเวณพื้นที่นี้มีการทิ้งร้างไม่อยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 ชุมชนนี้จึงได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาและมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอีกครั้งหนึ่ง
ลักษณะทางกายภาพของหนองหารสกลนคร
เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่มีน้ำเต็มอยู่ตลอดปีเนื่องจากเป็นแหล่งริมน้ำจากลำน้ำหลายสาย ทำให้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนนี้ จึงเป็นที่สร้างบ้านแปลงเมืองนี้ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันดังที่ปราฎหลักฐานทางด้านโบราณคดีตำนานและบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ขนานนามชุมชนนี้ว่าเมืองหนองหารหลวง ” พื้นที่โดยรอบหนองหารยังปรากฎร่องรอยการตั้งถิ่นฐานย้อนหลังขึ้นไปจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังรายละเอียด ดังนี้
เกาะดอนสวรรค์ใหญ่ อำเภอเมืองสกลนคร
เป็นดอนใหญ่ที่สุดในหนองหารอยู่ห่างจากฝั่งด้านสถานีประมงจังหวัดสกลนคร ประมาณ 7 กิโลเมตร ทางด้านทิศใต้ของดอนจะอยู่ใกล้กับบ้านพักของประมงจังหวัดสกลนครมีรากฐานศาสนสถานเก่า ขนาดไม่ใหญ่โตนัก 1 แห่ง ก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้างประมาณ 39.40 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร รอบ ๆ บริเวณซากศาสนสถานมีศิลาแลง กระจายเกลื่อนอยู่มากมาย บนซากฐานแลงมีร่องรอยการก่อสร้างเป็นศาสนสถานด้วยอิฐในรุ่นหลังและมีชิ้นส่วนของเสา 8 เหลี่ยมก่อด้วยอิฐฉาบปูนหักตกอยู่ด้วยอีก 2 ชิ้นถัดจากซากศาสนสถาน ไปทางเหนือเล็กน้อยเป็นศาลาโถง สร้างใหม่ด้วยไม้เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท ยาวประมาณ 135 เซนติเมตร สลักรอยพระพุทธบาทเป็นมงคล 108 ซึ่งเข้าใจว่านำโบราณวัตถุในสมัยรัตนโกสินทร์ส่วนในสุดของศาลาโถง มีชิ้นส่วนพระพุทธรูปปั้นด้วยปูนขาวที่ได้รับการซ่อมแซมใหม่แล้ว 2 องค์
ดอนสวนหมาก อำเภอเมืองสกลนคร
เป็นดอนเล็ก ๆ อยู่ห่างจากดอนสวรรค์ใหญ่ไปทางทิศใต้ประมาณ 3-4 กิโลเมตรทอดยาวไปตามแกนแนวเหนือ-ใต้ ผงเศษภาชนะดินเผามีทั้งชนิดลายเชือกทาบ ลายขูดขีดและแบบยังเรียบทาสลับสีต่างๆ ความหนาต่างๆ กัน หลายชิ้นมีลักษณะร่วมสมัยรุ่นเดียวกับบ้านเชียง และบางชิ้นก็น่าจะอยู่ในสมัยทวารวดีและอื่นๆ ด้านทิศใต้ของดอน พบว่ามีซากฐานศาสนสถานก่อด้วยศิลาแลง และหินทราประกอบกันพอสังเกตเห็นได้ว่าเป็นส่วนมุมของสิ่งก่อสร้างอย่างค่อนข้างชัดเจนถึง 2 จุดด้วยกัน ด้านเหนือของซากศาสนสถานหลักเสมาหินทรายโผล่เหนือผิวดินขึ้นมาประมาณ 15 เซนติเมตร หนาประมาณ 15 เซนติเมตร เห็นรอยสลักเป็นยอดแกนสถูปทั้งสองด้าน
บ้านคูสนาม ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมืองสกลนคร
ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 17 องศา 06 ลิบดา 27 ฟิลิปดาเหนือ และลองติจูด 104 องศา 10 ลิปดา 18 ฟิลิปดาตะวันออก สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม จากภาพถ่ายทางอากาศแหล่งชุมชนโบราณจะอยู่กึ่งกลางหมู่บ้าน มีคันดินชั้นเดียวล้อมรอบ กว้างประมาณ 300 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร ลักษณะคล้ายเป็นสระเก็บน้ำ ในฤดูแล้งมากกว่าจะเป็นคูเมือง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงและไม่มีเนินดินที่แสดงว่าใช้เป็นที่ฝังศพ จึงไม่พบหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ ในการดำรงชีวิตและพิธีกรรม หลักฐานที่สำคัญได้แก่ โบสถ์แบบล้านช้างปรากฎอยู่ในบริเวณที่สร้างโบสถ์ใหม่ ในปัจจุบันดินบางส่วนถูกบุกรุกเป็นเขตไร่นาของชาวบ้านที่มีที่ดินใกล้ชิดบริเวณที่ เช่น
คูสนาม บ้านโพธิ์ศรี ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมืองสกลนคร
บ้านโพธิ์ศรีอยู่ห่างจากบ้านคูสนามประมาณ 4 กิโลเมตร จากภาพถ่ายทางอากาศ บ้านโพธิ์ศรีมีคันดิน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกคันดินนี้ว่า “คูขวางคูซอย” พื้นที่กว้างประมาณ 500 เมตร ยาวประมาณ 900 เมตร สูง 1.50 เมตร ความกว้างของสันคูประมาณ 10 เมตร อย่างไรก็ตาม ลักษณะของคันดินดังกล่าวเชื่อว่าอาจใช้กักเก็บน้ำเพื่อการเพาะปลูกในชุมชนแห่งนี้มากกว่าเป็นคูเมือง
ในด้านหลักฐานโบราณคดีอื่นๆ ชาวบ้านได้ขุดพบไหน้ำอ้อยและไหสีขาวอ่อน พบโครงกระดูกที่มีขนาดใหญ่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน พบไหบรรจุกระดูกซึ่งคาดว่าคงเป็นการฝัง 2 ครั้ง คือนำผู้ตายมาฝั่งในหลุมศพจนเน่าเปื่อยแล้วนำกระดูกบรรจุไหฝังอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นประเพณีฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
บ้านหนองสระ ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร
ตั้งอยู่ริมหนองหารสกลนคร ทางทิศใต้เป็นเนินดินยาวชาวบ้านขุดพบภาชนะลายเชือกทางอย่างหยาบ ๆ โครงกระดูกมนุษย์เครื่องประดับสำริด และเครื่องมือเหล็ก ในระดับ 1.50 เมตร บริเวณนี้ไม่พบภาชนะเขียนสีแบบบ้านเชียง ที่พบที่บ้านม่วงตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนครแต่บรรดาเครื่องปั้นดินเผาและโบราณวัตถุอื่นมีลักษณะเหมือนกันกับที่บ้านม่วง
บ้านนาดอกไม้ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร
เป็นเนินดินยาว อยู่ริมหนองหารสกลนคร ทางซีกตะวันตกพบโครงกระดูกภาชนะลายเชือกทาบอย่างหยาบ ๆ เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้วและเครื่องมือเหล็กในระดับ 1.50 เมตร แต่ไม่พบภาชนะเขียนสีแบบบ้านเชียง จากการพบแหล่งโบราณคดีนี้ บ้านนาดอกไม้ บ้านหนองสระ และบ้านม่วง ซึ่งล้วนแต่กระจายอยู่ริมขอบหนองหารสกลนคร ทำให้ตระหนักว่าแหล่งเหล่านี้น่าจะเป็นแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีทั้งความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมบ้านเชียงและแตกต่างจากบ้านเชียง
บ้านท่าลาด ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร
ตั้งอยู่ริมหนองหารสกลนครด้านทิศใต้ เป็นบริเวณที่พบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบแบบหยาบ ๆแต่ไม่พบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบเนินดินที่มีการสร้างศาสนสถาน ในสมัยทราวดีตอนปลาย และลพบุรีเรื่อยมาจนถึงสมัยล้านช้าง โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ เนินดินที่มีเสมาหินปักล้อม ในเขตวัดท่าวัดเหนือ เป็นเสมาขนาดเล็กที่มีการสลักเป็นพระสถูป หรือลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาพบฐานวิหารก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ พบพระพุทธรูปแบบทวาราวดี ตอนปลายและแบบลพบุรีและฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ในสมัยล้านช้าง มีการสร้างโบสถ์ฐานก่อด้วยอิฐในบริเวณนี้หลายแห่งหลักฐานด้านโบราณคดีที่บ้านท่าวัด เป็นประจักษ์พยานให้เห็นว่าชุมชนในบริเวณรอบ ๆ หนองหารสกลนครนี้ ได้พัฒนาเข้าสู่สมัยที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาในสมัยทวาราวดีตอนปลายก่อนที่จะมีการสร้างเมืองหนองหารหลวงขึ้นริมหนองหารสกลนคร และมีการสร้างศาสนสถานแบบขอมในสมัยลพบุรี
บริเวณรอบๆหนองหาร จัดเป็นสวนสุขภาพขนาดใหญ่ เีรียกว่าสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อสระพังทองจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีพรรณไม้นานาชนิด สวนหย่อมสวยงาม เหมาะแก่การออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ