ไหว้ครู เป็นคำที่คนไทยทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี และรู้จักพร้อมๆ กับคำว่า พิธีไหว้ครู ซึ่งคนไทยมักจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต และเป็นสิ่งที่ควรประพฤติปฎิบัติ เพราะเราถือว่าพิธีไหว้ครูเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีมีต่อครู คนไทยเป็นผู้รู้คุณคนจึงมีพิธีไหว้ครูมาช้านานแล้ว
คำว่า "ไหว้ครู" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า "ไหว้ครู คือการทำพิธีไหว้ ครูบาอาจารย์" ครูบาอาจารย์หมายถึง "ความเป็นผู้รู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ และสามารถดูแลศิษย์ได้"
การไหว้ครู คือการที่ศิษย์แสดงความคารวะยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณาตน รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูด้วยความวิริยะอุตสาหะ มานะ อดทน เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางของการศึกษาตามที่ตั้งใจไว้ โดยทั่วไปแล้วจะพบว่ามีการไหว้ครูประเภทต่างๆ เช่น ไหว้ครูดนตรี ไหว้ครูช่าง ไหว้ครูนาฏศิลป์ แม้มวยไทย ก็มีการไหว้ครู จะเห็นว่าวิชาการต่างๆ ของคนไทยนั่นย่อมมีครูทั้งสิ้นส่วนใหญ่จะทำการไหว้ครูปีละครั้ง การที่ศิษย์ต้องเรียนกับครูนั้น จึงได้ชื่อว่า ศิษย์มีครู และคนไทยก็เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณจึงคิดถึงครูและมีพิธีไหว้ครู นอกจากจะแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อครูแล้วศิษย์อาจจะกระทำการอะไรบางอย่างด้วยความคิดของตนเองที่นอกเหนือจากการสอนของครู แม้ว่าการกระทำนี้จะเป็นการสร้างสรรค์ดี หรือไม่ดีก็ตามก็คือว่าเป็นการผิดครู ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ฉะนั้นการไหว้ครูจึงเป็นโอกาสให้ศิษย์ได้ขอขมาลาโทษต่อครู และมีโอกาสบอกกล่าวครูบาอาจารย์ด้วยว่า สิ่งใดที่คิดแล้วเกิดความเจริญสร้างสรรค์สิ่งที่ดีก็ขอให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป แต่ถ้าสิ่งใดคิดแล้วเป็นสิ่งไม่ดี มีการผิดพลาดก็ขอน้อมรับไว้ การบอกกล่าวเช่นนี้เท่ากับเป็นการไหว้ครูช่วยเป็นพยาน และให้อภัยต่อศิษย์
การไหว้ครูนี้นอกจากเป็นเจตนาที่มุ่งไปยังตัวครูเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที การนึกถึงตนเองเพื่อขอขมาลาโทษแล้ว ยังโยงไปสู่สังคมด้วย คือต้องการให้สังคมรับรู้ว่าเราเป็นศิษย์มีครู พิธีไหว้ครูเป็นพิธีที่แสดงให้ทุกคนรับรู้ว่า ครูของเราเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่เคารพยกย่อง พิธีนี้จึงมีผลต่อการสร้าง ความศรัทธาไปยังผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างศรัทธาปสาทะให้กับศิษย์ของศิษย์ต่อไป การสร้างศรัทธามิใช่เป็นเรื่องเหลวไหล แต่เป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจ นั่นคือ ถ้าผู้ใดมีความเชื่อถือผู้หนึ่งผู้ใดอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะช่วยให้ผู้นั้นมีความมั่นใจในสิ่งที่จะปฏิบัติ เช่นในด้านการเรียน ก็เกิดความมั่นใจว่า เราจะเรียนได้ดีแน่ ในเรื่องนั้น เรื่องนี้เพราะเวลาไหว้ครูนั้น ครูจะอวยพรให้กับศิษย์ พรที่ครูให้เป็นสิ่งที่ศิษย์ทุกคนปรารถนา นั่นคือความสุขความเจริญ ความมีอนาคตกว้างไกล รวมทั้งให้มีความสามารถในการเรียนวิชาต่างๆ การมีศรัทธา จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความสำเร็จของตนเองมากขึ้น ดังนั้นการไหว้ครูจึงมีผลต่อการสร้างศรัทธาปสาทะให้กับลูกศิษย์ และแสดงว่า เราเป็นศิษย์มีครู คำว่า "ศิษย์มีครู" หมายถึง "คนเก่งที่มีครูเก่ง" นั่นคือ การไหว้ครูมิใช่ให้สังคมยอมรับรู้ว่าเราเป็นศิษย์มีครูเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้สังคมยอมรับรู้เพิ่มเติมว่า ที่เราเป็นคนเก่ง และเป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะเรามี " ครูเก่ง" พิธีไหว้ครู จึงมีความหมายได้หลายนัย มีความขลัง และมีความศักดิ์สิทธ์มาก
การไหว้ครูต้องเป็นการไหว้ที่ออกมาจากน้ำใสใจจริง ซึ่งได้แก่การบูชา การแสดงความคารวะ และความกตัญญู
เมื่อตั้งจิตสำนึกว่าจะยกย่องเทิดทูนคุณความดี เรียกว่า บูชา
ด้วยความสำนึก และตระหนักถึงความสำคัญของท่านเรียกว่า คารวะ
ด้วยความสำนึก และระลึกถึงอุปการคุณของท่านเรียกว่า กตัญญู
การไหว้ครูด้วยจิตที่ตั้งมั่นที่จะบูชา แสดงความคารวะ และแสดงความกตัญญูนั้น ตัวศิษย์เองจะมีความรู้สึกที่ดีว่า
1. เราเป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ของครูอย่างเต็มที่
2. เราได้ใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมานั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
3. เราจะเป็นผู้ไม่ตกต่ำ
4. เราจะทำให้ความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ก้าวหน้าขึ้น
การไหว้ครูดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตามประเพณีของศิษย์มีครู ในสังคมไทย วันที่จะทำพิธีถือหลักว่าต้องเป็นวันพฤหัสบดี เพราะเชื่อว่า พระพฤหัสบดีเป็นเทพฤษี วันพฤหัสบดีจึงถือเป็นวันครู
เครื่องสักการะที่ศิษย์จะต้องทำมามอบแก่ครูในวันไหว้ครู ได้แก่ พานดอกไม้ ธูปเทียนดอกไม้ในพานที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ขอการไหว้ครูซึ่งถือปฏิบัติกันมาช้านานแต่โบราณ คือดอกมะเขือ หญ้าแพรก ดอกเข็ม รวมทั้งข้าวตอก ซึ่งรวมอยู่ในพานด้วย ซึ่งดอกไม้แต่ละชนิดและหัวตอกมีความหมายต่างกันคือ
ดอกมะเขือ เป็นสัญลักษณ์ของความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เนื่องจากโดยธรรมชาติของต้นมะเขือ เมื่อมีดอก ดอกที่จะให้ผลมะเขือได้ต้องโค้งลง เหมือนผู้อยู่ในอาการแสดงความเคารพ หรือคารวะบุคคลที่ตนเคารพบูชายกย่อง
หญ้าแพรก เป็นสัญลักษณ์ของความอดทน คุณสมบัติของหญ้าแพรก คือความอดทน หน้าแพรกจะงอกงามในทุกฤดูกาล ซึ่งถ้าบุคคลใดมีความอดทนเหมือนหญ้าแพรก บุคคลนั้นก็จะ เป็นศิษย์ที่มีคุณสมบัติที่ดีและเป็นผู้ที่สามารถเรียนได้สำเร็จ ตามหลักสูตรที่กำหนด
ข้าวตอก เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย อยู่ในกรอบและควบคุมตัวเองได้ เปรียบกับการคั่วข้าวเปลือกให้เป็นข้าวตอก ถ้าเมล็ดข้าวเปลือกเมล็ดในกระเด็นออกจากภาชนะที่ครอบไว้ ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอกฉันใด เปรียบได้กับนักศึกษาที่ตามใจตนเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ก็จะกระเด็นออกไปนอกกรอบของระเบียบวินัย ซึ่งทำให้ไม่มีโอกาสได้ความรู้ ฉันนั้น จึงต้องมีครูเป็นเสมือนภาชนะคั้นข้าวเปลือก และข้าวตอกมิให้กระเด็นออกไป อีกความความหนึ่งก็คือให้ความรู้แตกพองสวยงามดุจข้าวเปลือก
ดอกเข็ม เป็นสัญลักษณ์ของความมีสติปัญญาเฉียบแหลมประดุจดังเข็ม
ดอกไม้และข้าวตอกเป็นเครื่องสักการะในพิธีไหว้ครูดังกล่าวนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ให้ความหมายของการแสดงออกถึงการเป็นศิษย์ที่ดีของครูได้ครบถ้วน ทั้งในด้านการฝากตัวเป็นศิษย์ การให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นลูกศิษย์ที่ดีมีความกตัญญูกตเวทีและเป็นการขอพรให้เจริญรุ่งเรืองด้วย
ความสำคัญของพิธีไหว้ครู
คำว่า "ครู" นั้น หมายถึงพระรัตนตรัย เทพเจ้า ครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว และท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว ซึ่งเมื่อได้ทำพิธีไหว้ครูแล้ว จะทำให้ศิษย์มีความสบายใจ และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ตั้งใจมั่นคงที่จะประกอบคุณความดี ศึกษาเล่าเรียนให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายต่อไป