สิมวัดสะพานคำ
สิม มาจากคำว่า สีมา สิมมา หรือพัทธสีมา ที่ปรากฏในคำจารึกบนแผ่นหินที่ประกาศเจตนาอุทิศของผู้สร้างปักไว้ด้านหลังสิมมีปรากฏอยู่ทั่วไป ความหมายของคำเหล่านี้ หมายถึง เขตแดนที่กำหนดในการประชุมทำสังฆกรรมอันเป็นกิจของสงฆ์โดยมีแผ่นสีมาหินเป็น เครื่องหมายแสดงขอบเขตรอบบริเวณตัวสิม สิมอีสาน หรือโบสถ์อีสาน มาจากการที่ทางอีสานเรียก โบสถ์ว่า “สิม”
ลักษณะโดยทั่วไปของสิม แบ่งเป็น ๒ ประเภทหลักตามสภาพของแหล่งที่ตั้ง คือ สิมน้ำและสิมบก สิมน้ำ เป็นสิมที่ตั้งอยู่กลางน้ำ เช่น สระ หนอง บึง ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างอย่างชั่วคราวสำหรับวัดที่ยังไม่มีวิสุงคามสีมาส่วนใหญ่สิมบกเป็นสิมที่ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีลักษณะเป็นอาคารถาวร
นอกจากนี้ สิมยังแบ่งตามลำดับอายุก่อนหลังและลักษณะร่วมในรูปแบบได้เป็น ๔ ประเภท คือ สิมก่อผนังแบบดั้งเดิม สิมโถง สิมก่อผนังรุ่นหลัง และสิมแบบผสม อุโบสถ หรือสิมอีสาน เป็นอาคารขนาดเล็ก มีสัดส่วน ทรวดทรง การตกแต่งภายนอก ภายในเพื่อความสวยงาม การเลือกใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ตลอดจนใช้โครงสร้าง มีลักษณะที่ค่อนข้างลงตัว คือ ทุกอย่างดูพอดี พอเหมาะ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานที่มีรูปแบบเรียบง่าย หนักแน่น มีพลัง มีความสมถะ ส่อคุณลักษณะแห่งความจริงใจ อันเป็นคุณสมบัติเด่นของชาวอีสาน แต่ปัจจุบันสิมที่มีอยู่ ได้ชำรุด หักพัง และรื้อทิ้งไปเป็นจำนวนมาก เพราะชุมชนหันมาสนใจค่านิยมสมัยใหม่ตามลัทธิส่วนกลางนิยม (Capitalism)คือ พึงพอใจรูปแบบของพระอุโบสถของส่วนกลาง และรังเกียจรูปแบบพระอุโบสถที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้เพราะขาดความเข้าใจคุณค่าและความหมายภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงปรากฏว่า วัดต่างๆ ได้รื้อสิม หรือพระอุโบสถเก่า และสร้างพระอุโบสถใหม่ที่มีรูปแบบจากส่วนกลางขึ้นแทน เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเพื่อให้ประจักษ์ว่า สิ่งต่างๆ ที่ปู่ ย่า ตา ยาย คิดสร้างทำขึ้นไว้นั้น มีคุณค่า มีความหาย โดยเฉพาะอาคารในพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชน ฉะนั้น สิ่งที่ได้สร้างไว้ ในอดีต เคยมีความสำคัญ แต่ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรตม ปรักหักพัง หน้าที่ของเราซึ่งเป็นลูกหลาน ควรที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษา ให้ดำรงอยู่สืบต่อไปนานเท่านาน การรื้อสิมก็ดี ศาสนอาคารอื่นๆ ก็ดี นอกจากจะทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์ของชุมชนแล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจของ ปู ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษของเราอย่างอีกด้วย
สำหรับสิมโบราณ วัดสะพานคำแห่งนี้ ได้ก่อสร้างมานานพร้อมวัดแห่งนี้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง โดยได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากร เนื่องจากสิมแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้มาศึกษาหาความรู้ อย่างน้อยก็เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของช่างโบราณ เพราะไม่สามารถทราบว่าตั้งแต่เมื่อใดหรือสมัยใด ปัจจุบันมีเจ้าอธิการพระมหาคาวี ญาณสโร เป็นเจ้าอาวาส